Mar 26, 2024
1 min read
1 min read

การขาดเกลืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นี่คืออันตรายที่ไม่ค่อยมีใครรู้ (ตอนที่ 1)

การขาดเกลืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นี่คืออันตรายที่ไม่ค่อยมีใครรู้ (ตอนที่ 1)

เราได้รับการเตือนอยู่เสมอถึงอันตรายของการบริโภคเกลือมากเกินไป แต่บางคนอาจขาดเกลือโดยไม่รู้ตัว ในขณะเดียวกันก็พยายามลดการบริโภคเกลือลงด้วย ซึ่งอาจเป็นอันตรายเท่ากับการบริโภคมากเกินไป

 

ความสำคัญของเกลือ

เกลือถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อถนอมอาหารและปรุงรส คนโบราณได้รับเกลือจากการต้มน้ำแร่ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ในความเป็นจริง เหมืองเกลือที่เก่าแก่ที่สุดในโลกบางแห่งสามารถสืบย้อนไปถึงประมาณ 6,000 ปีก่อนคริสตกาล

คำว่า “salary” (เงินเดือน) มาจากภาษาละตินว่า “salarium” ซึ่งหมายถึงเงินช่วยเหลือที่มอบให้กับทหารโรมันในการซื้อเกลือ ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของเกลือในชีวิตประจำวัน ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ สงครามบางประเภทและความเจริญรุ่งเรืองของเมืองต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเกลือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงเกลือเรามักจะคิดทันทีว่า “ฉันไม่ควรกินมากเกินไป” “มันทำให้ความดันโลหิตสูง” หรือ “มันไม่ดีต่อหัวใจ” ในความเป็นจริงเกลือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการทำงานของชีวิตเรา

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของเกลือบริโภคคือโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นแหล่งโซเดียมหลักในอาหาร

“โซเดียมคือสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ เพื่อรักษาชีวิตของเราให้ทำงานได้” ซินดี ชาน ฟิลลิปส์ นักโภชนาการที่ขึ้นทะเบียนกล่าวกับ The Epoch Times “โซเดียมเป็นหนึ่งในอิเล็กโทรไลต์ หากปราศจากสิ่งนั้นเราก็จะตาย”

เนื่องจากเป็นสารอาหารที่จำเป็นในร่างกายมนุษย์ โซเดียมควบคุมความสมดุลของของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงที่ดีต่อสุขภาพ ฟิลลิปส์อธิบายว่าโซเดียมเป็นเหมือนฟองน้ำที่ดูดซับและอุ้มน้ำได้ “โซเดียมไปไหน น้ำก็ไปด้วย” เธอกล่าว

โซเดียมยังมีหน้าที่ในการส่งผ่านสัญญาณในกล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทอีกด้วย “หากไม่มีโซเดียมในระดับที่เพียงพอ เซลล์ประสาทของเราก็จะล้มเหลวในการทำงาน” ฟิลลิปส์อธิบาย โซเดียมยังช่วยให้กล้ามเนื้อของเราหดตัวเมื่อเราต้องการให้หดตัวและคลายตัวเมื่อเราต้องการให้คลาย “หัวใจและปอดของเราก็เป็นกล้ามเนื้อเช่นกัน เพื่อให้หัวใจเต้นแรงก็ต้องรู้ว่าเมื่อใดควรหดตัวและผ่อนคลายด้วยตัวเอง” คลอไรด์อิออนในเกลือบริโภคเป็นส่วนประกอบสำคัญของกรดในกระเพาะอาหาร กล่าวอีกนัยหนึ่งการหลั่งของน้ำย่อยก็ต้องใช้เกลือเช่นกัน

 

การขาดเกลือทำลายหัวใจและเพิ่มอัตราการเสียชีวิตได้

แม้จะมีบางแนวทางในการบริโภคอาหารที่แนะนำให้ประชาชนทั่วไปจำกัดการบริโภคเกลือให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (น้อยกว่า 1 ช้อนชา) แต่งานวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า สำหรับบุคคลที่ความดันโลหิตไม่สูงและผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ให้รักษาปริมาณเกลือไว้ที่วันละ 1- 2 ช้อนชาดีต่อสุขภาพมากขึ้น การบริโภคเกลือที่ต่ำเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและการเสียชีวิตได้

เกลือ 1 ช้อนชาเท่ากับประมาณ 5 กรัม จะมีโซเดียม 2.3 กรัม

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน European Heart Journal ในปี 2563 ตรวจสอบการบริโภคโซเดียมและอายุขัยใน 181 ประเทศ และพบว่าการบริโภคโซเดียมมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับอายุขัย และมีความสัมพันธ์ผกผันกับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ การวิจัยนี้สรุปว่าการบริโภคโซเดียมในอาหารไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้อายุขัยสั้นลงหรือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังเน้นย้ำว่า “ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเชิงสังเกต และไม่ควรใช้เป็นฐานในการแทรกแซงทางโภชนาการ”

ผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการบริโภคเกลือในปริมาณมากต่อหัวใจนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ แต่น่าแปลกที่การบริโภคเกลือน้อยเกินไปก็เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้เช่นกัน

การศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบไปข้างหน้าที่ตีพิมพ์ใน The Lancet ในปี 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมเกือบ 10,000 คนจาก 18 ประเทศ ตลอดระยะเวลาการติดตามผลเฉลี่ย 8 ปี เผยให้เห็นว่า ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมที่ได้รับโซเดียมในปริมาณสูงสุด (มากกว่า 5 กรัมต่อวัน) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของเหตุการณ์หัวใจและหลอดเลือดยังเพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับผู้เข้าร่วมที่ได้รับโซเดียมน้อยที่สุด (น้อยกว่า 4.5 กรัมต่อวัน)

🔸 มีต่อตอนที่ 2